วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การเลี้ยงปลาหางไหม้

ปลาหางไหม้เป็นปลาน้ำจืดพบตามแม่น้ำ ลำคลองเฉพาะที่ นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะในต่างประเทศ ชาวบ้านจับปลาหางไหม้ได้ด้วย ยอยก หรือ ลี่ แต่การพบปะปนกับปลาอื่นๆ เคยพบชุกชุมในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ตามแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำน่าน ปัจจุบันในประเทศไทยหายาก เข้าใจกันว่าคงจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ยังพบในต่างประเทศ เช่น บอร์เนียว สุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย มลายู และแม่น้ำโขงในแคว้นเขมราช สาธารณรัฐกัมพูชา ปลาหางไหม้เป็นปลาเผ่าพันธุ์เดียวกับปลาตะเพียนขาว ปลาหางไหม้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Balantiocheilos melanopterus ( บา-แลน-ทิ-โอ-ไซ-โลส เม-ลา-นอพ-เทอ-รัส ) ชาวต่างประเทศรู้จักดีในชื่อ Silver shark ( ซิล-เวอร์ ชาร์ค ) คนไทยอาจรู้จักปลาตัวนี้ในชื่อ ปลาหางเหยี่ยว ปลาหนามหลังหางดำรูปร่างลักษณะ ปลาหางไหม้มีรูปร่างคล้ายปลาตะเพียน ลำตัวเพรียวยาว ส่วนหัวแหลมเล็ก สันท้องเป็นเหลี่ยมกว้าง ส่วนครีบต่างๆสีสีเหลืองอ่อนและมีสีดำขลิบที่ริมโคนครีบ ทุกครีบยกเว้นครีบหู เกล็ดบนเส้นข้างตัวมี 34-35 เกล็ด ครีบหลังและครีบท้องตั้งต้นตรงแนวเดียวกัน ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 3 ก้านและก้านครีบอ่อน 8 ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบแข็ง 1 ก้าน และก้านครีบอ่อน 9 ก้าน ครีบหูมีแต่ก้านครีบอ่อน 18 ก้าน ปากปลาหางไหม้ยืดหดได้ ไม่มีฟัน ริมฝีปากบนยื่นยาวกว่าริมฝีปากล่าง ในต่างประเทศอาจยาวถึง 35 เซนติเมตร ในประเทศไทยยาวประมาณ 20เซนติเมตร ปลาหางไหม้สังกัดอยู่ในครอบครัว Cyprinidaeการเลี้ยงปลาหางไหม้ ปลาหางไหม้เลี้ยงปนกับปลากะมังในตู้กระจก หาอาหารกินตามพื้นก้นตู้โดยใช้ปากซึ่งยืดหดได้คอยดูดอาหารตามซอกหิน ปลาหางไหม้มีนิสัยตกใจง่ายเลี้ยงให้เชื่องต้องใช้เวลานาน ถ้าตกใจสามารถกระโดดให้สูงถึง 2 เมตร ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ตัวโตหาอาหารกินโดยการใช้ปากไล่ชนปลาตัวเล็ก ตามธรรมชาติสามารถเลี้ยงได้ในบ่อดินเช่นเดียวกับปลาตะเพียน ให้อาหารเม็ดเช่นเดียวกับปลาตะเพียนขาวการขยายพันธุ์ปลาหางไหม้ ปลาหางไหม้ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติเช่นเดียวกับปลาตะเพียนขาว คือตอนต้นฤดูฝนราวเดือนพฤษภาคม ปลาเพศเมียท้องเริ่มอูมตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ปลาเพศเมียเวลาตั้งท้องมีไข่จะมีนิสัยดุร้าย ว่ายน้ำเข้าชนปลาที่เข้าใกล้ ต่อเมื่อไข่แก่เต็มที่ปลาเพศผู้จึงสามารถว่ายเคล้าเคลียจับเป็นคู่ๆได้ ปลาที่ว่ายเคล้าเคลียกันจะกระตุ้นเร่งเร้าการวางไข่โดยการใช้ปากชนบริเวณท้องและบริเวณช่องออกไข่ซึ่งกันและกัน ในเดือนพฤษภาคมปลาเพศเมียท้องอูมเป่งเห็นได้ชัด รูก้นสีแดงเรื่อๆ ช่องออกไข่มีสีเข้มเป็นติ่งกลมใหญ่ ขนาดแม่พันธุ์หนักประมาณ 155 กรัมจะให้ไข่ 6,000-7,000 ฟอง ปลาเพศผู้ที่เคล้าเคลียจะมีขนาดหนักประมาณ 126 กรัม การเพาะพันธุ์โดยวิธีการกระตุ้นต่อมใต้สมองของปลาไน ฉีดให้แก่แม่ปลาครั้งแรก ปริมาณ 0.5 โดส ผสมฮอร์โมนซีจี 50 ไอ.ยู.ทิ้งระยะ 6 ชั่วโมงครึ่งโดยปล่อยรวมไว้กับพ่อปลาแล้วฉีดแม่ปลาครั้งที่สองด้วยต่อมใต้สมองปลาไนอีก 1.5 โดสผสมฮอร์โมนซีจี 50 ไอ.ยู.แล้วปล่อยให้อยู่ด้วยกัน 12 ชั่วโมง จึงนำมาทำให้สลบด้วย ควินอลดิน รีดไข่และน้ำเชื้อคนด้วยขนไก่นาน 30 นาที ล้างไข่ด้วยน้ำ 2 ครั้ง นำไข่ไปโรยในกระชังผ้า ไข่ที่รีดออกมามีสีน้ำตาลปนแดง หลังจากไข่ผสมน้ำเชื้อแล้วประมาณ 5-6 นาทีไข่จะเริ่มพองน้ำจนมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลใสมองเห็นถุงอาหารมีช่องระหว่างเปลือกไข่กับถุงอาหาร ไข่ปลาหางไหม้จะจมลงสู่ก้นกระชัง ฟักตัวในอุณหภูมิน้ำเฉลี่ย 2 7.5 องศาเซลเซียสในเวลา 13 ชั่วโมงหลังจากการผสม ถุงอาหารยุบในเวลา 3 วัน ลูกปลาเริ่มกินอาหารในวันที่ 4 อาหารเป็นพวกแพลงค์ตอนสัตว์และพืช ไรแดง และให้อาหารเม็ด ลูกปลาอายุ 50 วัน จะมีลักษณะเหมือนพ่อแม่ปลา แต่ขลิบต่างบนครีบยังไม่เด่นชัด ปลาหางไหม้ในปัจจุบันนี้มีเลี้ยงเพื่อเป็นปลาสวยงาม ขายภายในและส่งออกจำหน่ายต่างประเทศเท่านั้น ไม่นิยมนำมาปรุงเป็นอาหารเนื่องจากหาไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น