วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปลาสวยงาม


1 การเลือกชนิดปลาที่จะเลี้ยง
การเลือกชนิดปลาที่จะเลี้ยงภายในตู้ใดตู้หนึ่ง ผู้เลี้ยงจะต้องเลือกปลาให้ถูกต้อง จึงจะทำให้ได้ปลาสวยงามไว้ดูตามที่ต้องการ โดยที่ไม่มีภาระยุ่งยากจนเกินไป หลักการสำคัญสำหรับการเลือกชนิดปลามีดังนี้
1.1 ชนิดของปลาสวยงามที่จะเลือกเลี้ยง การเลือกชนิดปลานั้นย่อมต้องขึ้นกับความชอบของแต่ละบุคคล เนื่องจากปลาสวยงามที่เลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบันมีมากมายถึง 100 กว่าชนิด แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นว่าสวยงามทั้งหมด ดั้งนั้นการเลือกชนิดปลาก็จะขึ้นกับความชอบของแต่ละคนเป็นหลัก โดยอาจใช้หลักต่อไปนี้ช่วยพิจารณาด้วย คือ
1.1.1 ความสวยงามกับปัจจัยการเลี้ยง ความสวยงามของปลามีหลายรูปแบบแตกต่างกันไปบางคนอาจชอบปลาขนาดเล็กๆที่มีสีสันฉูดฉาด ว่ายน้ำไปมาตลอดเวลา เช่นพวกปลาหางนกยูงปลาสอด และปลาซิวชนิดต่างๆ บางคนอาจชอบปลาที่ว่ายน้ำช้าๆดูสง่างาม เช่นปลาปอมปาดัวร์ ปลาเทวดา หรือบางคนอาจชอบปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาออสการ์ ปลามังกร ปลากราย และปลาแรด ปลาที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้บางชนิดมีความต้องการความจำเพาะในระหว่างการเลี้ยง เช่นปลานีออน และปลาปอมปาดัวร์ ต้องการอุณหภูมิน้ำค่อนข้างสูง ทำให้ต้องมีการใช้เครื่องให้ความร้อนช่วยในช่วงฤดูหนาว มิฉะนั้นปลาจะตายได้ง่าย ปลาบางชนิดต้องการอาหารที่มีชีวิตหรืออาหารสด เช่นปลามังกร ผู้เลี้ยงต้องเข้าใจการเตรียมอาหารไว้ให้ปลา ปลาบางชนิดเป็นปลาขนาดใหญ่ เช่นปลามังกร ปลาออสการ์ ปลากราย และปลาแรด จำเป็นต้องใช้ตู้ขนาดใหญ่ ดังนั้นการเลือกชนิดปลาอาจทำให้เกิดภาระแก่ผู้เลี้ยงมากเกินกว่าที่คาดคิดไว้ จึงควรที่จะต้องศึกษาข้อมูลของปลาที่ต้องการเลี้ยง โดยอาจหาอ่านจากเอกสาร ตำราซึ่งมีผู้เขียนออกมาจำหน่ายกันมากขึ้น หรือสอบถามจากร้านขายปลาสวยงามก็จะช่วยให้เลือกปลาได้อย่างเหมาะสม
1.1.2 ความหลากหลาย ผู้เลี้ยงควรจะต้องรู้ว่าปลาที่ต้องการเลี้ยงนั้นมีความหลากหลายทางสายพันธุ์อย่างไรบ้าง เนื่องจากปลาเป็นสัตว์ที่ให้ลูกในแต่ละครั้งได้เป็นจำนวนมาก และสามารถผสมข้ามสายพันธุ์หรือข้ามพันธุ์ได้โดยการดำเนินการของมนุษย์ ทำให้ปลาบางกลุ่มหรือบางชนิดค่อนข้างมีความหลากหลายทางสายพันธุ์ ดังนั้นลักษณะของปลาที่เห็นนั้นอาจไม่ใช่ลักษณะแท้ของสายพันธุ์ก็ได้ ตัวอย่างเช่น ปลาทอง ปลาเทวดา ปลาหางนกยูง และปลาสอดชนิดต่างๆ จะมีความหลากหลายของสายพันธุ์ค่อนข้างมาก เนื่องจากปลาเหล่านี้มีการเพาะเลี้ยงกันมานาน และมีการคัดลักษณะเด่นของลูกปลาที่ได้นำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ หรือผสมข้ามสายพันธุ์กับปลาจากแหล่งอื่นๆ ทำให้ได้ปลาที่มีรูปทรง สีสัน และลักษณะครีบแตกต่างกันออกไป ผู้เลี้ยงปลาหลายรายที่หลงเชื่อซื้อปลาลักษณะเด่นๆตามที่ต้องการ เพื่อนำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ แต่เมื่อดำเนินการเพาะพันธุ์แล้ว พบว่าลูกปลาที่ออกมาจะมีรูปร่างหลายลักษณะเช่นกัน ดังนั้นควรจะได้ศึกษาว่าปลาชนิดใดหรือกลุ่มใดมีความหลากหลายทางสายพันธุ์อย่างไรบ้าง หากนำมาเลี้ยงปะปนกันแล้วจะทำให้เกิดปัญหาการผสมข้ามสายพันธุ์ได้หรือไม่
1.1.3 ความต้องการของตลาด หากจะดำเนินการเลี้ยงปลาสวยงามเพื่อเป็นการค้า จำเป็นต้องศึกษาการตลาดของปลาชนิดต่างๆ โดยเฉพาะตลาดในพื้นที่ว่ามีความต้องการปลาสวยงามชนิดใด ก็จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จได้ง่าย เช่น ปลากัด และปลาหางนกยูง เป็นปลาที่ตลาดมีความต้องการสูงมากทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดภายในประเทศ ร้านขายปลาสวยงามที่เปิดขายในจังหวัดต่างๆนั้น จะไม่ดำเนินการเพาะเลี้ยงปลากัด และปลาหางนกยูงขึ้นมาเอง แต่จะเข้าไปหาซื้อมาจากกรุงเทพฯ ดังนั้นการดำเนินการเพาะเลี้ยงปลากัด และปลาหางนกยูง ตามจังหวัดต่างๆ ก็น่าที่จะสามารถหาตลาดได้ไม่ยากนัก ตัวอย่างเช่นในจังหวัดขอนแก่น มีความต้องการปลากัดเฉลี่ยอย่างน้อยเดือนละ 10,000 ตัว
1.2 นิสัยของปลาสวยงาม จากจำนวนปลาสวยงามที่มีอยู่มากมาย การเลือกเลี้ยงปลาสวยงามนอกจากจะเลือกที่ความสวยงามแล้ว ยังต้องศึกษานิสัยของปลาให้รอบคอบด้วย เนื่องจากปลาบางชนิดจะมีนิสัยดุร้าย เกเร หากนำไปเลี้ยงปะปนกัน อาจมีปลาบางชนิดที่ถูกทำร้ายหรือถูกจับกินเป็นอาหารได้ หลักการพิจารณานิสัยของปลามีดังนี้
1.2.1 นิสัยการกินอาหารของปลา การเลือกเลี้ยงปลาสวยงามควรจะต้องรู้ว่าปลาที่จะเลี้ยงนั้นปกติกินอาหารประเภทใดเป็นหลัก ซึ่งจากจำนวนชนิดปลาสวยงามที่มีอยู่มากมายนั้น จะเห็นความแตกต่างของลักษณะอาหารที่ปลาชอบกินได้อย่างเด่นชัด การจัดแบ่งกลุ่มนิสัยการกินอาหารของปลามีดังนี้
(1) ปลากินพืช(Forage or Herbivorous Fishes) หมายถึงปลาที่ปกติจะหากินพวกพืชเป็นอาหารหลัก เช่น กินรากหรือใบพืช รวมทั้งตะไคร่น้ำ ตัวอย่างปลาพวกนี้ ได้แก่ ปลาสร้อย และปลาตะเพียนชนิดต่างๆ ปลากลุ่มนี้สามารถเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปได้ดี
(2) ปลากินเนื้อ(Carnivorous Fishes) หมายถึงปลาที่ปกติจะหากินพวกเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลัก ซึ่งมีทั้งที่ชอบไล่ล่าเหยื่อที่มีชีวิตหรือกัดแทะซากของสิ่งมีชีวิต ปลาพวกนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้อีกดังนี้
ปลาล่าเหยื่อ(Piscivores or Predator) เป็นปลาที่ชอบไล่ล่าเหยื่อที่มีชีวิต จัดว่าเป็นปลาที่มีนิสัยดุร้าย อาหารในธรรมชาติจะเป็นลูกปลา ปลาขนาดเล็ก กุ้ง ลูกกบ และลูกเขียด ตัวอย่างปลากลุ่มนี้ เช่น ปลามังกร ปลากราย ปลาตองลาย ปลากระทิง ปลาชะโด ปลาเสือตอ ปลาบู่ ปลาปักเป้า และปลา Gar (ปลาต่างประเทศ) ปลาพวกนี้หัดให้กินอาหารสำเร็จรูปค่อนข้างยาก ยังคงชอบกินอาหารมีชีวิต ผู้เลี้ยงต้องซื้อปลาเหยื่อมาใช้เลี้ยง หรือพยายามหัดให้กินเนื้อปลาสดหั่นเป็นชิ้นๆก็สามารถทำได้
ปลาแทะซาก(Scavenger) เป็นปลาที่กินอาหารประเภทเนื้อแต่เป็นพวกที่ตายแล้ว ชอบกัดแทะหรือฮุบกินทั้งชิ้น ตัวอย่างปลากลุ่มนี้ เช่น ปลากด ปลาแขยง และปลาดุก ปลาพวกนี้ให้กินอาหารสำเร็จรูปได้ดี
ปลากินแมลงและตัวอ่อนของแมลง(Insectivores) เป็นปลาที่ชอบกินอาหารที่มีชีวิตเช่นกัน แต่เป็นพวกตัวอ่อนของแมลงหรือแมลงขนาดเล็กต่างๆ เช่น ลูกน้ำ หนอนแดง ไรแดง มวนวน และมวนกรรเชียง ตัวอย่างปลากลุ่มนี้ได้แก่ ปลาเทวดา ปลาปอมปาดัวร์ ปลาเสือพ่นน้ำ และปลากัด ปลาพวกนี้ปกติหัดให้กินอาหารสำเร็จรูปได้ยาก แต่เนื่องจากมีการเลี้ยงมาหลายชั่วอายุของปลา ทำให้ปลากินอาหารสำเร็จรูปได้ดีขึ้น เช่น ปลาเทวดา และปลากัด ส่วนปลาปอมปาดัวร์ และปลาเสือพ่นน้ำ ถ้าเลี้ยงไว้จำนวนหลายตัวก็จะสามารถหัดให้กินอาหารสำเร็จรูปได้ เนื่องจากจะมีปลาตัวใดตัวหนึ่งขึ้นกิน แล้วตัวอื่นที่เห็นจะขึ้นกินตามกัน แต่เมื่อซื้อมาเลี้ยงเพียงไม่กี่ตัวจะไม่ค่อยยอมกินอาหารสำเร็จรูป อาจต้องให้อาหารพิเศษ เช่น หนอนแดงอบแห้ง หรืออาหารสำเร็จรูปชนิดพิเศษ
ปลากินแพลงตอนสัตว์(Zooplankton Feeder) เป็นปลาที่ชอบกินพวกสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ได้แก่ ไรน้ำชนิดต่างๆ ตัวอย่างปลากลุ่มนี้ได้แก่ พวกปลาสวยงามที่มีขนาดเล็ก เช่นปลาหางนกยูง ปลาสอด ปลาม้าลาย ปลานีออน และปลาซิวอื่นๆ ปลาพวกนี้ให้กินอาหารสำเร็จรูปได้ดี ซึ่งในปัจจุบันมีอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ดเล็กพิเศษเหมาะที่จะใช้เป็นอาหารปลาพวกนี้
(3) ปลากินทั้งเนื้อและพืช(Omnivorous Fishes) หมายถึงปลาที่ไม่เจาะจงชนิดของอาหารสามารถกินอาหารได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นพรรณไม้น้ำ ตัวอ่อนแมลง ลูกกุ้ง และลูกปลาขนาดเล็ก ตัวอย่างปลาพวกนี้ได้แก่ ปลาทอง ปลาคาร์พ และปลาหมอชนิดต่างๆ ปลาพวกนี้ค่อนข้างตะกละหากินอาหารตลอดเวลา จึงให้กินอาหารสำเร็จรูปได้ดีมาก
1.2.2 การอยู่ร่วมกัน ผู้เลี้ยงปลาสวยงามส่วนใหญ่มักนิยมเลี้ยงปลาหลายชนิดภายในตู้เดียวกัน เพื่อจะได้เห็นปลาหลายลักษณะและหลายสีสัน ถึงแม้ปลาที่เลือกเลี้ยงจะไม่ถูกระบุว่าเป็นปลาที่ล่าเหยื่อหรือทำอันตรายปลาอื่น แต่หากพิจารณาให้ดีจะพบว่ามีปลาบางชนิดมีการทำอันตรายกันเสมอ ทำให้ปลากลุ่มหนึ่งถูกทำลายหรือเกิดการติดเชื้อจนตายได้ ตัวอย่างเช่นการเลี้ยงปลาทองร่วมกับปลาหางนกยูงและปลานีออน ถ้าปลาทองมีขนาดเล็กก็จะไม่ทำอันตรายปลาทั้งสองชนิด แต่เมื่อปลาทองมีขนาดใหญ่ขึ้น จากนิสัยที่กินอาหารเก่งและมักว่ายน้ำหาอาหารตลอดเวลา ก็มักจะทำอันตรายปลาหางนกยูงและปลานีออนจนตาย โดยเฉพาะเวลากลางคืนเมื่อปิดไฟปลาทั้งสองชนิดจะเชื่องช้า ทำให้ถูกทำอันตรายได้ง่าย ยิ่งถ้าเป็นลูกปลาก็มักจะถูกปลาทองไล่จับกินอย่างง่ายดาย แต่ถ้านำปลาทองไปเลี้ยงร่วมกับปลาสอดชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปลาหางดาบ ปลาสอดแดง ปลาสอดดำ หรือปลาเซลฟิน ซึ่งปลาเหล่านี้มีขนาดใหญ่กว่าปลาหางนกยูง และค่อนข้างมีความว่องไว พวกปลาสอดจะกลายเป็นตัวทำอันตรายปลาทอง ถึงแม้ว่าปลาสอดจะมีขนาดเล็กกว่าปลาทองมาก แต่จากการที่มีความว่องไวและมักเข้าไปกัดแทะหรือตอดตามตัวและครีบของปลาทอง จะค่อยๆทำให้ปลาเกิดบาดแผล หรือปลาที่มีบาดแผลอยู่แล้วก็ยิ่งชอบเข้าไปกัดแทะบริเวณแผลเพื่อกินเนื้อเยื่อ ทำให้ปลาบอบช้ำเนื่องจากแผลไม่หายและมักขยายลุกลามติดเชื้ออื่นๆมากขึ้น ดังนั้นการเลี้ยงปลาทองร่วมกับปลาสอด ผู้เลี้ยงจึงมักพบว่าปลาทองเกิดแผลเป็นโรครักษายากและมักตายไป หรือการเลี้ยงปลาเสือสุมาตราร่วมกับปลานีออน ปลาเสือสุมาตราจะค่อนข้างมีความดุร้ายในฤดูกาลผสมพันธุ์ ก็มักจะทำอันตรายปลานีออนจนตายได้ จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการเลือกชนิดปลาที่จะเลี้ยงร่วมกัน จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาพิจารณาให้รอบคอบ
1.3 ความอดทนของปลา ปลาแต่ละชนิดจะมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้ต่างกัน จากการที่ปลาสวยงามถูกนำมาเลี้ยงไว้ในพื้นที่แคบๆ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างกระทันหันย่อมเกิดได้ตลอดเวลา เช่น การให้อาหารมากเกินไปจนเศษอาหารไปหมักหมมบูดเน่าอยู่ในวัสดุกรอง หรือการเปลี่ยนน้ำใหม่โดยขาดประสบการณ์ เติมน้ำที่มีคลอรีนสูงมากเกินไป หรือปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้องทำให้เครื่องให้อากาศและระบบกรองน้ำไม่ทำงาน ซึ่งหากเกิดเป็นเวลานานเกินกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไป ปริมาณออกซิเจนจะลดต่ำลง ปลาจะได้รับอันตรายมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นกับขนาดและจำนวนปลาที่เลี้ยง ดังนั้นการเลือกชนิดปลาก็ยังอาจต้องพิจารณาถึงความอดทนของปลาประกอบด้วย เช่น ปลาหางไหม้ และปลานีออน ถูกกระทบจากปริมาณคลอรีนจนมีผลทำให้ปลาตายได้อย่างง่ายดาย ปลาปอมปาดัวร์ และปลานีออน ไม่อดทนต่อสภาพอุณหภูมิต่ำ กลุ่มปลาตะเพียน ปลากาแดง ปลาทรงเครื่อง ปลาทอง ปลาคาร์พ และปลาสร้อยชนิดต่างๆ ไม่อดทนต่อสภาพการขาดออกซิเจน สำหรับปลาที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่างๆได้ดี จัดว่าเป็นปลาที่มีความอดทนไม่ตายง่ายๆก็มีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ปลาหางนกยูง ปลาสอดชนิดต่างๆ ปลากระดี่ชนิดต่างๆ ปลาชะโด และปลาแรด นอกจากนั้นยังอาจใช้วิธีการป้องกันร่วมด้วย เช่น ใช้เครื่องให้ความร้อน (Heater) ควบคุมอุณหภูมิในฤดูหนาว หรือเตรียมเครื่องให้อากาศที่ใช้ไฟจากถ่านไฟฉายสำรองไว้ ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ปลาได้
1.4 การขยายพันธุ์ การแพร่พันธุ์ของปลาค่อนข้างแตกต่างจากการแพร่พันธุ์ของสัตว์บกโดยทั่วไป คือปลาส่วนใหญ่จะออกลูกเป็นไข่ และเป็นการผสมพันธุ์ภายนอกตัวแม่ โดยพ่อแม่พันธุ์ปลาจะปล่อยน้ำเชื้อและไข่ออกมาผสมกันในน้ำ นอกจากนั้นลักษณะของไข่ปลายังมีรูปแบบแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ซึ่งประเภทของไข่ปลาและวิธีการเพาะพันธุ์ปลาจะได้กล่าวโดยละเอียดในหัวข้อการเพาะพันธุ์ปลา สำหรับผู้ที่ต้องการเลี้ยงปลาสวยงามเพื่อเป็นการค้า จำเป็นต้องศึกษาวิธีการเพาะและอนุบาลลูกปลาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จได้ดีขึ้น ส่วนผู้ที่เลี้ยงปลาสวยงามเป็นงานอดิเรก หากต้องการเห็นลูกปลาที่เกิดจากปลาที่เลี้ยงไว้เอง ก็อาจจะต้องเลือกปลาที่มีการแพร่พันธุ์อย่างง่ายๆ และลูกปลามีอัตราการรอดดีเนื่องจากกินอาหารได้ง่าย ซึ่งจะได้แก่กลุ่มปลาที่ออกลูกเป็นตัว ปลาพวกนี้มีจำนวนชนิดอยู่ไม่มากนัก และส่วนใหญ่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เป็นปลาที่มีจำนวนไข่หรือลูกไม่มาก เมื่อเทียบกับปลาที่ออกลูกเป็นไข่ แต่ปลาพวกนี้มักจะออกลูกได้เกือบตลอดปี โดยจะออกลูกครั้งละ 30 - 100 ตัว ลูกปลาที่คลอดออกมาจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อเทียบกับลูกปลาของปลาที่ออกลูกเป็นไข่ และค่อนข้างมีความแข็งแรง ว่ายน้ำหลบหนีศัตรู(ซึ่งรวมทั้งพ่อแม่ของตัวเอง)ได้ทันทีที่คลอดออกจากท้องแม่ปลา ตัวอย่างของปลาที่ออกลูกเป็นตัวได้แก่ ปลาหางนกยูง ปลาสอดชนิดต่างๆ และปลาเข็ม

2 วิธีการเลือกซื้อปลาสวยงาม
เมื่อตัดสินใจว่าจะเลี้ยงปลาสวยงามและได้ตัดสินใจเลือกชนิดปลาที่จะเลี้ยงแล้ว ขั้นตอนสำคัญอันดับต่อไปคือการไปร้านขายปลาสวยงาม เพื่อเลือกซื้อปลาที่ต้องการมาเลี้ยง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญเช่นกัน เพราะหากได้ปลาที่ไม่แข็งแรง ไม่สมบูรณ์ หรือมีเชื้อโรคติดมา ปลาที่ซื้อมาเลี้ยงอาจตายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน หรืออาจต้องทนเลี้ยงปลาที่ไม่สมสัดส่วนหรือไม่สมประกอบไปอีกนาน วิธีการเลือกซื้อปลาควรจะพิจารณาสิ่งต่อไปนี้
2.1 ควรเลือกซื้อปลาในเวลากลางวัน เนื่องจากจะสังเกตสีสันที่แท้จริงของปลาได้ดี แต่ในปัจจุบันการจัดตู้ปลามีความทันสมัยมากขึ้น โดยร้านขายปลาสวยงามมักจะติดหลอดไฟพวกแสงสะท้อน แล้วเปิดไว้ตลอดเวลาเพื่อทำให้เห็นปลามีสีสดใสมากกว่าที่เป็นจริง
2.2 สังเกตสภาพของตัวปลา คือเลือกปลาที่ไม่มีร่องรอยความบอบช้ำ เช่นเกล็ดหลุด ครีบแหว่ง หรือมีแผลตามลำตัว เพราะอาจเป็นปลาที่ได้รับการกระทบกระเทือนจากการลำเลียง หรือมีการระบาดของโรคพยาธิเกิดขึ้น ถ้าเลือกซื้อปลาที่บอบช้ำมาเลี้ยงอาจเกิดการติดเชื้อต่างๆได้ ยิ่งถ้ามีการระบาดของโรคพยาธิอยู่แล้ว ปลาที่เลือกซื้อมาก็มักจะตายหมด
2.3 สังเกตลักษณะการว่ายน้ำหรือการทรงตัวของปลา ควรสังเกตว่าชนิดปลาที่จะซื้อมีลักษณะการว่ายน้ำอย่างไร เช่น พวกปลานีออน ปลาเสือสุมาตรา ปลาสอด และปลาซิวชนิดอื่นๆ มักชอบว่ายน้ำวนเวียนไปมาตลอดเวลาบริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำ ต้องไม่เซื่องซึมลงไปพักอยู่ก้นตู้หรือลอยตัวอยู่แต่ผิวน้ำ พวกปลาเทวดา และปลาปอมปาดัวร์ ชอบว่ายน้ำช้าๆลักษณะเป็นสง่า ต้องไม่ไปซุกตามหินหรือมุมตู้
2.4 สังเกตลักษณะการกางของครีบต่างๆ คือปลาปกติที่ไม่มีปัญหาเรื่องการติดเชื้อหรือการเกิดโรค จะกางครีบออกเกือบตลอดเวลา แต่ปลาที่มีอาการผิดปกติมักจะหุบครีบลู่ติดตัวไม่ค่อยกางออก
2.5 สังเกตสีสันของปลา ควรสังเกตเปรียบเทียบปลาในกลุ่มเดียวกัน ปลาที่มีสีสันสดเข้มกว่า ลวดลายเด่นชัด ย่อมมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแกร่งกว่า
2.6 สังเกตความสมบูรณ์ของอวัยวะต่างๆ ควรเป็นปลาที่มีอวัยวะครบถ้วนตรงตามชนิด ลำตัวโดยเฉพาะคอดหางไม่คดงอ ครีบไม่โค้งพับหรือขาดหายไป
2.7 สังเกตว่าไม่มีปลาตายปะปนอยู่ในตู้ปลาที่จะเลือกซื้อ หรือไม่มีปลาที่แสดงอาการติดเชื้อปะปนอยู่
นอกจากนั้นเมื่อนำปลามาปล่อยเลี้ยงในตู้ที่เตรียมไว้แล้ว หากพบว่าปลาตัวใดมีอาการผิดปกติ ควรรีบแยกปลาดังกล่าวออกไปเลี้ยงต่างหาก จนแน่ใจว่าอาการดีเป็นปกติจึงค่อยนำกลับมาปล่อยเลี้ยงในตู้ต่อไป

3 วิธีการเลี้ยงปลาสวยงาม
ปลาสวยงามแต่ละชนิดมีความต้องการปัจจัยในการเลี้ยงต่างกัน ดังนั้นหากต้องการให้ปลาที่เลี้ยงมีความสวยงาม แข็งแรง และเจริญเติบโตดีตามต้องการ ควรพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้
3.1 ภาชนะสำหรับเลี้ยงปลา ปลาสวยงามแต่ละชนิดจะมีความสวยงามมากขึ้น หากเลือกภาชนะในการเลี้ยงได้ถูกต้องเหมาะสม เช่น ปลาคาร์พ และปลาอะราไพม่า เหมาะที่จะเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ภายนอกอาคาร ปลาแรด และปลามังกร เหมาะที่จะเลี้ยงในตู้กระจกขนาดใหญ่และเลี้ยงเพียงตัวเดียวโดดๆ ปลานีออน ปลาก้างพระร่วง ปลาตะเพียนทอง ปลาเสือสุมาตรา ปลาม้าลาย ปลาซิวข้างขวาน ปลาหางนกยูง และปลาสอด เหมาะที่จะเลี้ยงในตู้กระจกขนาดเล็กถึงขนาดกลาง โดยเลี้ยงเป็นฝูงจะยิ่งทำให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น ส่วนปลากัด เหมาะสำหรับเลี้ยงในภาชนะขนาดเล็กเช่นขวดเหลี่ยม หรือขวดโหลรูปทรงต่างๆ
3.2 สถานที่ คือการเลือกที่สร้างบ่อหรือที่จัดวางตู้ปลา พร้อมอุปกรณ์ประกอบอื่นๆให้เหมาะสมสอดคล้องกับอาคาร หรือลักษณะของห้อง ไม่ว่าจะเป็นบริเวณใด มุมใด หรือห้องใด เพราะเมื่อสร้างบ่อหรือจัดวางตู้เรียบร้อยแล้ว หากเกิดเปลี่ยนใจอยากเปลี่ยนสถานที่ใหม่ จะมีความยุ่งยากในการเคลื่อนย้าย เพราะต้องมีการถ่ายน้ำออกและเคลื่อนย้ายปลา มักมีผลทำให้ปลาบอบช้ำหรือตู้เลี้ยงปลาชำรุดแตกร้าวได้ง่าย โดยเฉพาะหากทำให้ตู้ปลาเกิดการรั่วซึม ก็จะทำให้เกิดปัญหากับบริเวณข้างเคียง หรือการซ่อมแซมตู้อาจทำให้ความสวยงามลดลงได้
3.3 ความหนาแน่นของปลา คือจำนวนปลาที่จะเลี้ยงในแต่ละตู้ไม่ควรให้มีจำนวนมากเกินไป สำหรับปลาบางชนิดอาจต้องเลี้ยงเพียงตัวเดียว เช่นปลามังกร ปลาแรด ปลาเค้า ปลากราย ปลาตองลาย ปลาบู่ ปลาชะโด และปลากัด ไม่เช่นนั้นปลาจะไล่กัดทำอันตรายกันเอง ปลาบางชนิดอาจเลี้ยงเป็นคู่หรือจำนวนไม่มากมายนัก เช่น ปลาออสการ์ ปลาปอมปาดัวร์ ปลาเทวดา และปลาหมอชนิดต่างๆ หรือปลาบางชนิดควรเลี้ยงหลายตัวให้เป็นฝูงหรือเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่นๆ แต่ก็ไม่ควรให้มีจำนวนมากมายจนเกินไป เพราะหากมีจำนวนมากเกินไป ปลาจะไม่ค่อยเจริญเติบโต แต่กลับอ่อนแอป่วยเป็นโรคได้ง่าย สำหรับจำนวนปลาที่เหมาะสมนั้นจะขึ้นกับชนิดและขนาดของปลาด้วย ซึ่งผู้เลี้ยงควรจะได้ศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ
3.4 การรักษาความสะอาดในภาชนะเลี้ยงปลาหรือตู้ปลา ผู้เลี้ยงควรจะทำความเข้าใจวิธีการทำความสะอาดเพื่อกำจัดสิ่งหมักหมม และตะกอนที่ตกค้างอยู่ในระบบกรองน้ำอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเท่ากับเป็นการกำจัดเศษอาหารและมูลที่ปลาขับถ่ายออกมาออกจากตู้ปลา โดยทำความสะอาดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จะทำให้ปลาที่เลี้ยงมีการเจริญเติบโตรวดเร็ว และยังเป็นการช่วยป้องกันการเกิดโรคระบาดปลา ที่อาจเกิดจากเศษอาหารที่บูดเน่าได้
3.5 การถ่ายน้ำในภาชนะเลี้ยงปลาหรือตู้ปลา ถึงแม้ผู้เลี้ยงจะได้หมั่นทำความสะอาดล้างสิ่งหมักหมมในระบบกรองน้ำ โดยเฉพาะระบบกรองน้ำนอกตู้ปลาจะไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำในตู้ปลาเลย หรือถึงแม้จะเป็นระบบกรองน้ำในตู้ปลา ก็อาจจะไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำหรือมีบ้างเพียงเล็กน้อย หรือนานๆจะกระทำครั้งหนึ่ง ปลาอาจเติบโตได้ดีในระยะแรกๆ แต่เมื่อเลี้ยงไปนานๆปลาจะหยุดการเจริญเติบโต สาเหตุเพราะมีสิ่งหมักหมมที่ละลายอยู่ในน้ำซึ่งไม่ได้ถูกกำจัดออกไปพร้อมกับการทำความสะอาด สิ่งหมักหมมดังกล่าวเกิดจากการขับถ่ายของปลาในรูปของสารละลายหรือก๊าซต่างๆ รวมทั้งสารอาหารบางประเภทที่ละลายจากอาหารที่ใช้เลี้ยงปลา สารละลายทั้งหลายนับวันจะมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ และค่อนข้างรวดเร็วกว่าการเลี้ยงปลาในบ่อดิน เพราะในบ่อดินจะมีขบวนการต่างๆที่ช่วยลดสารอาหารที่ละลายอยู่ในน้ำ โดยเฉพาะขบวนการสังเคราะห์แสงของพรรณไม้น้ำและแพลงตอนพืชทั้งหลาย แต่ในระบบการเลี้ยงปลาสวยงามเป็นการเลี้ยงปลาในสภาพพื้นที่แคบๆและน้ำใส ปราศจากแพลงตอนพืชและมักไม่ค่อยมีพรรณไม้น้ำ จึงทำให้ไม่มีตัวช่วยลดสิ่งหมักหมมที่ละลายอยู่ในน้ำ ถึงแม้จะมองดูเหมือนน้ำมีการไหลเวียน แต่ก็เป็นน้ำเก่าที่ไหลวนเวียนอยู่ภายในตู้ปลา โดยเกิดจากระบบกรองน้ำและการให้อากาศ ฉนั้นน้ำจึงมีการสะสมสิ่งหมักหมมละลายเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆจนมีผลทำให้ปลาชะงักการเจริญเติบโต
ดังนั้นหากต้องการให้ปลามีสุขภาพดี แข็งแรง สีสดใส และมีการเจริญเติบโตสม่ำเสมอ ก็ควรมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหมดทั้งตู้ แต่ถ่ายออกเพียง 1 ใน 4 ของน้ำที่มีอยู่ด้วยวิธีกาลักน้ำ โดยคะเนจากระดับความลึกของน้ำเป็นหลัก เช่น ตู้เลี้ยงปลาที่ใส่น้ำสูงประมาณ 40 เซ็นติเมตร จะถ่ายน้ำออกให้ระดับน้ำลดลง 10 เซ็นติเมตรก็พอ แล้วเติมน้ำใหม่ให้ได้ระดับเดิม กระทำเช่นนี้สัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง จะทำให้น้ำมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการดำรงชีพของปลาอยู่เสมอ นอกจากนั้นหากต้องการเร่งให้ปลามีการเจริญเติบโตเร็วขึ้นเป็นพิเศษ อาจทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน เช่นการเลี้ยงปลาทอง หากปล่อยปลาค่อนข้างน้อยแล้วเปลี่ยนถ่ายน้ำและทำความสะอาดทุกวัน จะทำให้ปลาทองเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีขนาดตัวโตอย่างเด่นชัด
3.6 การให้อาหารปลาสวยงาม การเลี้ยงปลาสวยงามก็เหมือนกับการเลี้ยงสัตว์บกโดยทั่วไป คือต้องให้อาหารทุกวัน เพราะปลาสวยงามที่เลี้ยงในตู้ไม่สามารถหาอาหารธรรมชาติกินได้ และยังมีความเคยชินกับการได้รับอาหารทุกวัน ดังนั้นหากปลาถูกปล่อยให้อดอาหารเป็นเวลา 2 - 3 วัน ก็จะทำให้ปลามีสุขภาพเสื่อมโทรมและมักทำอันตรายกันเอง นอกจากนั้นการให้อาหารปลาสวยงามยังมีข้อปลีกย่อยที่ควรพิจารณาดังนี้
3.6.1 การให้อาหารเป็นเวลา เพื่อให้ปลาเกิดความเคยชิน อย่าให้แบบพร่ำเพรื่อ คือ อยากให้เมื่อไหร่ก็ให้ หรือเข้าไปดูปลาครั้งใดเห็นปลาว่ายเข้ามาเหมือนต้องการอาหาร ก็ให้อาหารปลาทุกครั้ง การให้อาหารปลาแบบพร่ำเพรื่อจะทำให้มีเศษอาหารเหลือตกค้างในระบบกรองน้ำค่อนข้างมาก แล้วเกิดการบูดเน่าเป็นตัวการทำให้ปลาเกิดโรคระบาดได้ง่าย การให้อาหารปลาสวยงามในแต่ละวันควรให้เพียง 2 ครั้ง ในตอนเช้าและเย็นก็เป็นการเพียงพอสำหรับปลา
3.6.2 พิจารณาถึงชนิดของปลา แล้วเลือกชนิดของอาหารให้เหมาะสม โดยเฉพาะขนาดของเม็ดอาหารควรให้เหมาะสมที่ปลาจะฮุบกินได้ง่าย
3.6.3 พิจารณาถึงวัยของปลา ถ้าเป็นปลาวัยอ่อนก็จะต้องให้บ่อยครั้งมากขึ้น อาจเป็นวันละ 3 - 4 ครั้ง
3.7 อุณหภูมิของน้ำในตู้ปลา ผู้เลี้ยงปลาสวยงามจะต้องรำลึกอยู่เสมอว่าปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น กิจกรรมต่างๆของร่างกายจะปรับไปตามอุณหภูมิน้ำ ดังนั้นในฤดูหนาวการเผาผลาญอาหารภายในร่างกายก็จะลดลงตามอุณหภูมิน้ำ นั่นหมายถึงปลามีความต้องการอาหารลดลง ดังนั้นผู้เลี้ยงจะต้องลดปริมาณอาหารที่ให้ลง และควรให้อาหารเพียงวันละครั้งในตอนบ่ายหรือเย็น แต่ถ้าหากต้องการให้ปลากินอาหารตามปกติ ก็อาจกระทำโดยใช้เครื่องให้ความร้อนที่ควบคุมอุณหภูมิได้ ก็จะทำให้ปลาที่เลี้ยงมีความสดชื่น แข็งแรง และกินอาหารได้ตามปกติ
3.8 แสงสว่าง การเลี้ยงปลาสวยงามในตู้กระจกมักตั้งตู้ปลาอยู่ภายในห้องหรือในอาคาร และมักตั้งในบริเวณที่ไม่ได้รับแสงแดด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดตะไคร่น้ำหรือเกิดน้ำเขียวในตู้เลี้ยงปลา ดังนั้นการเพิ่มแสงสว่างในตู้เลี้ยงปลาจึงมีความจำเป็น เพื่อเพิ่มความสวยงามและเป็นการช่วยให้ปลาแข็งแรง อีกทั้งยังช่วยให้พรรณไม้น้ำมีการสังเคราะห์แสงเจริญเติบโตได้ ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตหลอดนีออนที่เป็นแสงแดดเทียม สำหรับใช้กับการเลี้ยงปลาสวยงามติดที่ฝาตู้ ผู้เลี้ยงควรเลือกใช้หลอดชนิดดังกล่าว โดยเปิดให้ปลาในเวลากลางวันและตอนหัวค่ำ เมื่อเลิกใช้ห้องหรือก่อนเข้านอนก็ควรจะปิดไฟ เพื่อให้ปลาได้มีการพักผ่อน เพราะเมื่อไม่มีแสงสว่างปลาส่วนใหญ่จะลดกิจกรรมลง เช่น ว่ายน้ำช้าลง
3.9 การจับปลาหรือการเคลื่อนย้ายปลา หากไม่มีความจำเป็นไม่ควรมีการจับปลาหรือเคลื่อนย้ายปลาออกจากตู้ปลาอย่างเด็ดขาด เพราะการจับหรือการเคลื่อนย้ายปลาไม่ถูกวิธีหรือไม่ชำนาญ มักทำให้ปลาบอบช้ำ เกล็ดหลุด เกิดบาดแผล พิการ หรือตายได้ หากจำเป็นต้องจับปลาหรือเคลื่อนย้ายปลา เช่น ในกรณีล้างตู้ปลาหรือเปลี่ยนตู้ปลา ก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยไม่ควรช้อนปลาพ้นจากน้ำ โดยเฉพาะการใช้กระชอนช้อนปลาพ้นน้ำขึ้นมา เพราะเมื่อปลาพ้นน้ำขึ้นมาปลาจะกระโดดพลิกไปมาในกระชอน อาจเกิดการทับครีบของตัวปลาเอง หรือหากช้อนปลาหลายตัวพร้อมกัน ปลาจะกระโดดทับกระแทกกันไปมา ผลก็คือการจับปลามักทำให้ปลาเกล็ดหลุด เกิดบาดแผล หรือครีบหักพับกลายเป็นปลาพิการไปได้ วิธีการที่เหมาะสม คือ ควรใช้ภาชนะที่ใหญ่กว่าตัวปลา เช่น ขัน หรือถังพลาสติก ใส่ลงในตู้ปลาแล้วค่อยๆไล่ปลาโดยอาจใช้กระชอนช่วย ค่อยๆไล่ปลาเข้าภาชนะ แล้วยกขึ้นทั้งปลาและน้ำ อาจใช้กระชอนช่วยปิดปากภาชนะกันปลากระโดดสำหรับปลาบางชนิดด้วย แล้วย้ายปลาไปลงในภาชนะที่เตรียมไว้ จะลดความบอบช้ำของปลาได้ นอกจากนั้นหากภายในตู้ปลามีหินประดับหรือเครื่องประดับต่างๆ ก็ควรนำออกจากตู้ปลาก่อน และไล่ปลาช้าๆอย่าให้ปลาตื่นตกใจมากนัก เพราะปลาอาจวิ่งชนขอบตู้หรือซุกไปตามปะการัง ทำให้เกิดบาดแผลได้
3.10 น้ำที่จะใช้เลี้ยงปลาสวยงาม จะต้องเป็นน้ำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการดำรงชีพของปลา และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือจะต้องใส เพราะสิ่งสำคัญสำหรับการเลี้ยงปลาสวยงามคือต้องการมองเห็นปลาสวยงามอย่างชัดเจน มองดูน้ำใสสะอาด สำหรับประเภทของน้ำและคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงปลาสวยงาม
3.11 โรคพยาธิและการป้องกันรักษา การเลี้ยงปลาสวยงามเป็นการเลี้ยงในพื้นที่แคบๆ ที่ขาดความสมดุลย์ของระบบนิเวศน์ จึงมักทำให้ปลาเกิดอาการผิดปกติได้ง่าย โดยเฉพาะการเกิดโรคระบาดต่างๆ ผู้เลี้ยงจำเป็นจะต้องหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของปลาที่เลี้ยงอยู่เสมอ เช่น ลักษณะอาการว่ายน้ำ การกินอาหารน้อยลง หรือการเกิดผิดปกติของร่างกาย ได้แก่ สีซีดลง เมือกมากขึ้น หรือตกเลือด จะต้องรีบดำเนินการแก้ไข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น